ตอนที่ยื่นสมัครงานครั้งแรก รู้สึกต้องพร้อมแค่ไหน ถึงยื่นสมัครงาน
คนเรียน Bootcamp ท่านหนึ่ง
พอดีนิลได้มีโอกาสไปเป็น TA ให้กับ Web Development Bootcamp ของ Skooldio และนี่เป็นคำถามที่นิลได้จากคนเรียน Bootcamp ที่นิลในตอนนี้รู้สึกว่าตอบง่ายมากครับ เพราะในตอนที่นิลเริ่มสมัครงานครั้งแรก นิลก็เป็นแค่เด็กที่จบวิศวะ อุตสาหการคนนึง ที่เพิ่งผ่านการฝึกงานในตำแหน่ง Full Stack Developer มา 6 เดือนและทำ Project ส่วนตัวมานิดหน่อยและย้ายสายไปฝั่ง Software ทันทีหลังเรียนจบเลย งั้นต้องพร้อมแค่ไหน ไปค้นหาความพร้อมกันเลยครับ
ย้อนไปสมัยหนุ่ม ๆ ของนิล
ในตอนที่นิลยื่นสมัครงานครั้งแรก นิลก็เจอแนวคิดแบบนี้เหมือนกันครับ ตอนนั้นนิลมีประสบการณ์ฝึกงานในตำแหน่ง Full Stack Developer มา 6 เดือนทำให้นิลรู้สึกว่ามีแต้มต่อกว่าคนอื่น แต่นิลก็ติดกับแนวคิดความพร้อมเหมือนกับสมัยสอบมหาลัยฯ ว่าเราต้องพร้อมที่สุดเพื่อที่จะทำได้ เพื่อจะเก่งเจ๋ง ผนวกกับตอนนั้นที่นิลทำมา นิลเขียนเว็บด้วย VueJS ครับ แต่ส่วนใหญ่บริษัทในไทยจะรับสมัครแต่คนที่ใช้ ReactJS นิลเลยรู้สึกไม่พร้อมเท่าไหร่ นิลเลยไปนั่งเรียน React เพิ่ม ทำ Project เพิ่ม ทำไม่ได้ตรงไหนก็ทำเพิ่มเรียนเพิ่ม วนลูปอยู่นั่นแหละครับ และก็เกิดวุฒิปัญญาขึ้นมาได้ที่จุดนึงครับว่าการรอให้พร้อม 100% อาจจะไม่มีอยู่จริงก็ได้ พอนิลคิดได้แบบนั้น นิลที่พอมีพื้นฐานจุดนึงแล้ว นิลก็เริ่มสมัครงานเลยซึ่งในแต่ละที่ที่นิลสมัครไป พอผ่าน Process ของเขาเสร็จ นิลจะเห็นจุดที่นิลยังไม่โอเค ยังปรับปรุงได้อยู่ นิลก็นำมาปรับปรุงและนำไปพัฒนาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายนิลก็แก้ไขมันมาเรื่อย ๆ และผ่านการสัมภาษณ์รวมถึงได้เข้าทำงานที่ Skooldio Tech ครับ
มุมมองของนิลต่อคำถามนี้
ในมุมของนิลแล้ว การที่จะบอกว่าเก่งแค่ไหน พร้อมแค่ไหนถึงจะพอ นิลว่ามันยากมากเลยที่จะตอบ Exact Point ของความพร้อม กว่าที่เราจะรู้สึกว่าพร้อมที่สุด อาจจะเป็นวันที่ไม่เหลือโอกาสอะไรแล้วหรือมันอาจจะไม่เคยมาถึงก็ได้ รวมถึงจากที่ผ่าน ๆ มา นิลจะเห็นหลาย ๆ คน Self Doubt ในตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่เจ๋ง แล้วก็จะงมมันอยู่อย่างงั้นแหละ ซึ่งในมุมนิลก็คิดว่าอาจจะเป็นการดีที่รู้ว่าตัวเองยังไม่เก่งเจ๋ง แต่อาจจะเป็นการใช้เวลางมกับความคิดของตัวเองนานเกินไปจนทำให้พลาดโอกาสดี ๆ ไปได้ ดังนั้นในมุมของนิล ถ้าเรารู้สึกมั่นใจประมาณนึง เราก็อาจจะยื่นสมัครงานไปก่อนได้เลย แล้วพอเราไปเจอสถานการณ์จริงแล้ว เราจะรู้เองว่าเราไม่พร้อมตรงไหน และค่อย ๆ ปรับเพื่อเป็น Better Version ในครั้งถัด ๆ ไป หรือว่าถ้ามีเพื่อนที่อยู่ในตำแหน่งงานนั้น ๆ อาจจะลองถามว่าในตำแหน่งงานนั้น ๆ มีเรื่องอะไรที่เราต้องรู้เพื่อทำมันได้ไหม ถ้าเราคิดว่าเรารู้และเข้าใจสิ่งเหล่านั้นประมาณนึงแล้ว อาจจะไปลองเลยก็ได้ครับ ให้เรื่องปวดหัวเป็นเรื่องของ HR ครับ ตัวเราอย่าไปคิดมากในจุดนี้เลย เราแค่ทำหน้าที่ของเราในฐานะผู้สมัครคนนึงให้ดีที่สุดพอครับ แต่อย่ากลัวที่จะยื่นพอครับ
ถ้าจะสมัครงานแล้ว มีอะไรที่ต้องดูอีก
อีกอย่างนึงที่เราควรทำคือดูว่าเราอยากเข้าบริษัทไหนและบริษัทนั้น ๆ เขามี Expectation ต่อคนที่มาสมัครยังไง และเรามี Expectation ต่อการทำงานยังไง เช่น เรา Expect ว่าเราจะทำงานชิว ๆ แอค ๆ แต่ว่าบริษัทที่เราสมัครไปเขามี Expectation ว่าอยากได้คนเทพ ๆ ทำงานเดือด ๆ เราก็อาจจะไม่ตรงกับ Expectation ของเขาครับ ซึ่งอย่างที่นิลเคยเขียนไปใน Blog “การ Set Expectation ในการทำงาน” แหละครับ ทั้ง 2 ฝั่งก็ควรจะมี Expectation ที่ตรงกัน ถึงจะ Happy ทั้ง 2 ฝั่งครับ สามารถไปอ่านได้จากลิงก์ข้างล่างเลยคร้าบ
บางทีเราอาจจะลองตั้งคำถามอีกแบบนึงล่ะ
ถ้าสมมติเราตั้งคำถามว่าเราต้องพร้อมหรือต้องเก่งแค่ไหน อาจจะทำให้เราเกิดความ Self Doubt ในตัวเองประมาณนึงครับ ถ้าลองเปลี่ยนเป็นคำถามว่า “บริษัทไหนอยากจะรับเรา” อาจจะเป็นการกลับมานั่ง Reflect กลับตัวเองก็ได้ครับว่าทำไมบริษัทนั้น ๆ ถึงอยากรับหรือไม่อยากรับเราเข้าไปทำงาน อันนี้น่าจะเป็นจุดที่เราสามารถจัดการกับจุดที่เรามองว่าเรายังไม่ดีพอสำหรับแต่ละบริษัทและก็ลับคมให้ดีสำหรับจุดที่เรามองว่าเราเก่งเจ๋งอยู่แล้ว คำถามที่เปลี่ยนไปอาจจะช่วยเปลี่ยนมุมมองจากการตั้งคำถามในตัวเองเป็นคำถามเพื่อการพัฒนาตัวเองได้เลยครับ
จบไปแล้วนะครับ Blog นี้เป็น Blog ที่มีคนมาช่วยนิลคิดเยอะมาก คือบอกตรง ๆ ว่าถึงกลางคันของการเขียนแล้ว นิลคิดไม่ออกว่าจะเล่าสิ่งนี้ยังไงต่อ แต่จนแล้วจนรอดเมื่อวานก็มีพี่ที่ออฟฟิศนิลมาช่วยนิล Unlock ความคิดกับแนะนำหัวข้อเพิ่มเติมมาจนนิลเขียนจบได้ครับ กราบไหว้สุด ๆ มีคอนเทนต์ในหัวเยอะแต่ว่าคิดไม่ออกว่าแต่ละหัวข้อจะเล่ายังไงดี เดี๋ยวจะค่อย ๆ ปรับเรื่อย ๆ ครับ ยังไงก็ขอบคุณทุก ๆ คนที่อ่านกันมาถึงจุดนี้มากครับ มี Feedback กันยังไงก็บอกกันได้ครับ จะพยายามเอาไปปรับปรุงครับ 🙂
– นิล –