ความเร็วกับคุณภาพและปัจจัยที่มองไม่เห็น

Peeranat Danaidusadeekul

Peeranat Danaidusadeekul

February 18, 2024

ความเร็วเป็นของปีศาจ เราน่าจะได้ยินคำพูดนี้บ่อย ๆ ครับ เหมือนความเร็วที่นิลใช้เขียนข้อความด้านบน อ่านกันไม่ทันเลยสิครับ วันนี้มาพูดกันในหัวข้อที่จริง ๆ นิลได้พบผ่านมาเยอะแล้วกันครับ ว่าด้วยเรื่องความเร็วกับคุณภาพของงาน ซึ่งในสมัยหนุ่ม ๆ (ไม่กี่ปีก่อน) นิลก็เคยมีปัญหาเรื่องนี้และก้าวข้ามผ่านมันมาได้ แต่ในตอนทำงานนิลก็ยังวนเวียนกลับมาเจอปัญหาเรื่องนี้ในหลาย ๆ มิติอยู่เรื่อย ๆ ครับเลยอยากมาแชร์กัน งั้นไปเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

นิลเคยทำงานโปรเจคนึงครับที่นิลรู้สึกว่านิลทำงานไวมาก ๆ แบบเร็วกว่าที่พี่ ๆ เขาคาดหวังไว้ แต่คุณภาพของ Code นั้น ปานกลาง ค่อนไปทางแย่เลย รวมทั้งสร้างข้อผิดพลาดไว้เยอะมาก ตอนแรกนิลคิดว่ามันไม่เป็นไรมากครับ แต่สุดท้ายจริง ๆ แล้วโปรเจคนั้นไม่ได้เร่งมากขนาดนั้น มีเวลาทำเหลือเฟือ นิลเลยต้องกลับมาชดใช้กรรมของนิลครับ ต้องกลับมาแก้ไข Coding Pattern และกลับมาแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมดที่นิลทำไว้ด้วยเวลาที่เหลืออยู่ทั้งหมดครับ

จากโปรเจคที่แล้วนิลได้เรียนรู้มาแล้วว่างานที่เร่งไปคือสิ่งที่ไม่ดี มันสร้างข้อผิดพลาดจำนวนมากและสุดท้ายนิลก็ต้องเสียเวลามาตามแก้มัน ดังนั้นโปรเจคถัดไป ถ้านิลมีเวลานะ นิลจะ Craft งานให้มันดี ๆ เลย พอได้เริ่มช่วงแรก ๆ นิลก็จัดการเลย งานแบบโคตรคร๊าฟฟฟ แบบของจริงงง คิดในใจว่านี่แหละ งานระดับพระกาฬ ของแทร่ แต่ว่าพอผ่านไปแปปเดียวครับ พอดู Scope งานกับเวลาที่เหลืออยู่นั้น นิลก็ได้รู้ความจริงข้อนึงว่า ปริมาณงานในตอนนี้มันไม่พอสำหรับเวลาที่เหลืออยู่ ถ้าจะทำให้ทันจริง ๆ คือต้องมีคนมาเพิ่ม ซึ่งกว่านิลจะล่วงรู้ความจริงข้อนี้ เวลาก็ผ่านไปจากตอนเริ่มเดือนนึง จนช่วงหลัง ๆ นั้นต้อง Ship Feature ออกไปแบบไวมาก Ship แบบ Ship Hai มาก จนสุดท้ายนิลก็ได้รับ Learning มาอีก 1 จุดว่าการที่เราปราณีตก็ไม่ใช่จุดที่ดีที่สุดในการทำงานนี่นา

งั้นอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดล่ะ ?

แท้จริงแล้วมันมีปัจจัยอีกอันนึงแหละครับนอกจากเวลากับคุณภาพ เพราะโลกเราขับเคลื่อนด้วยสิ่ง ๆ นั้นแหละ นั่นคือ “เงิน” ไงครับ ขอยกตัวอย่างสามเหลี่ยมที่จะมาช่วยนิลอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกัน

ตัวสามเหลี่ยมนี้มีชื่อเรียกด้วยนะครับ ชื่อของมันก็คือ Project Management Triangle ซึ่งหลัก ๆ เขาบอกเอาไว้ว่าส่วนใหญ่ของโลกแล้ว โปรเจค ๆ นึงจะประกอบไปด้วย 3 แกน เงิน (ต้นทุน) เวลา และ Scope ของโปรเจคซึ่งแต่ละตัวประกอบไปด้วยรายละเอียดดังนี้

เงิน (ต้นทุน)

  • จำนวนคนในทีมที่ใช้ทำโปรเจค
  • ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในโปรเจค เช่น ค่าอุปกรณ์เพิ่มเติม ค่า License และอื่น ๆ

เวลา

  • เวลาที่ใช้ทำโปรเจค
  • เวลาที่ใช้เพื่อวางแผนโปรเจค

Scope

  • Requirements ของโปรเจค
  • ปริมาณงาน
  • คุณภาพชิ้นงาน

ทั้ง 3 ค่านี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ เมื่อเพิ่ม Scope ของโปรเจค ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม Requirements หรือการทำให้คุณภาพของงานมันดีขึ้น จะส่งผลทำให้ต้องใช้เวลาและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตาม ทีนี้ถ้า Scope ของโปรเจคนิ่งแล้ว อีก 2 แกนจะขยับแบบตรงกันข้าม เช่น ถ้าต้องลดต้นทุน (ลดคนในทีม) แปลว่าเวลาที่จะใช้ในโปรเจคต้องเพิ่ม ในทางกลับกัน หากจะลดเวลาที่จะใช้ลงแปลว่าจะต้องเพิ่มต้นทุนในโปรเจคไป

สิ่งนี้นิลอยากจะฝากไว้คือ จากไอเจ้าสามเหลี่ยมนี้จะเห็นได้ว่า หลาย ๆ ครั้ง เรารับงานมาด้วยงบก้อนนึงและมี Deadline ที่จุดเวลาหนึ่ง ถ้างบเยอะ เวลาเยอะ เราก็สามารถที่จะขยายเพดานของคุณภาพชิ้นงานที่ส่งมอบได้ดี แต่มองมุมกลับปรับมุมมอง ถ้าโปรเจคเข้ามา เงินน้อย ให้เวลาน้อย แต่อยากได้งานคุณภาพดีนั้น เป็นไปไม่ได้ครับ อย่าหาทำที่จะรับโปรเจคแบบนั้นมาเพื่อทรมานตัวเองเล่นเลยครับ


จบไปแล้วนะครับ Blog นี้อาจจะสั้น ๆ นิดนึงนะครับ ช่วงนี้งานแน่นมากและนิลก็กำลังทดลองเขียนตัว Tutorial สำหรับการสร้าง Blog Website ด้วย WordPress.com ในการเขียน Blog อยู่ ยังไงก็อาจจะฝากติดตามกันด้วยนะครับ ถ้ามี Feedback สามารถมา Comment ได้ที่เพจ Facebook กันได้ที่เพจ “ตากล้องที่เขียนโค้ดได้นิดหน่อย” น้อมรับ Feedback เสมอครับ

ขอให้ทุกคนสนุกกับการ Manage Project ครับ

– นิล

Share: